หลักการใช้ภาพ กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์
ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท ทั้งบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ หรือกล่องกระดาลูกฟูก สีสันและลวดลายช่วยเพิ่มความโดดเด่นหรือสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้แล้ว การเลือกใช้ภาพสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ก็สามารถสื่อความหมาย และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
หลักการใช้ภาพ กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์
สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษลูกฟูก ที่สามารถพิมพ์ลวดลาย หรือใส่รูปภาพที่สอดคล้องกับสินค้าลงไปเพื่อความสวยงาม หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า มีหลักการเลือกใช้ภาพ ดังนี้
- เลือกลักษณะของภาพที่มีความเหมาะสมกับสินค้าหรือเป้าหมาย
- รูปแบบภาพมีความสัมพันธ์กับรูปแบบของสื่อ และต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักในการนำเสนอ
- สีของภาพต้องชัดเจน
- หลักในการเลือกใช้ภาพเพื่อพิมพ์ลงในบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษลูกฟูก หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ มีงานวิจัยระบุว่า ภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะได้รับความสนใจมากที่สุด การสร้างแรงจูงใจจากขนาดของภาพบนบรรจุภัณฑ์ ทำได้หลายวิธี เช่น การกำหนดสัดส่วนในทางกว้างและความยาวของภาพ
- เลือกลักษณะของภาพที่มีความแปลกตา หรืออาจเป็นภาพเล็กๆหลายภาพมารวมเป็นรูปใหญ่
ลักษณะรูปภาพกับการสื่อสารบนบรรจุภัณฑ์
ในการเลือกรูปภาพหรือกำหนดลักษณะรูปภาพที่จะใช้กับบรรจุภัณฑ์ นักออกแบบจะเลือกใช้รูปภาพโดยแยกตามลักษณะการถ่ายทอด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- เลือกลักษณะของภาพที่ถ่ายทอดความเป็นจริง เป็นภาพที่ดูแล้วเหมือนวัตถุจริงตามธรรมชาติ มีการเน้นรูปร่าง รูปทรง และการใช้สีให้เหมือนจริงมากที่สุด เช่น ภาพถ่าย หรือภาพวาดเหมือนจริง
- เป็นภาพที่ถ่ายทอดด้วยลักษณะการตัดทอน เป็นภาพที่พยายามดัดแปลงความเหมือนจริง โดยเสริมแต่งตัดทอนใหม่ แต่ยังคงเค้าโครงเดิมให้ลูกค้ารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เช่น รูปภาพการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นอาหาร ขนมหวาน หรือของว่างที่เหมาะสำหรับเด็กๆ
- ภาพที่ถ่ายทอดความรู้สึก เป็นภาพที่ไม่อธิบายหรือบรรยายเรื่องราวตามความเป็นจริง แต่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่สอดคล้องสัมพันธ์กับตัวสินค้า โดยถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งภาพที่ดีต้องถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้อย่างตรงไปตรงมา
ผลลัพธ์ของภาพที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์
ภาพที่นำมาใช้บนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กล่องกระดาษลูกฟูก หรือกล่องกระดาษแข็งทั่วไป สามารถสะท้อนความรู้สึกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่
- เป็นภาพที่ดูแล้วเกิดความสบายใจ เช่น ภาพวิว น้ำตก ลำธาร หรือดอกไม้
- ภาพที่ดูแล้วเกิดความไม่สบายใจ เช่น ภาพปีศาจ ภาพสัตว์ร้าย หรือภาพุอุบัติเหตุ
- ภาพที่ดูแล้วไม่เกิดความรู้สึกใดๆ
จากรูปภาพบนบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความรู้สึกทั้ง 3 ลักษณะ จะเห็นว่าภาพที่ดูแล้วเกิดความไม่สบายใจ จะเรียกความสนใจในขั้นต้นได้มากกว่าภาพอื่นๆ แต่จะเรียกความสนใจได้ไม่นาน แตกต่างจากภาพที่ดูแล้วสบายใจจะเรียกความสนใจได้นาน ซึ่งข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับหลักการใช้ภาพ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบและนักออกแบบในการเลือกใช้รูปภาพเป็นอย่างมาก